การบริหารจัดการคนถือเป็นศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยความรู้ ทฤษฎี ประสบการณ์ และความสามารถส่วนบุคคล ในการปรับใช้ตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ ซึ่งการบริหารคนเป็นจำนวนมากถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับผู้ที่เป็นหัวหน้าทีม โดยเฉพาะการรับมือกับลูกทีมที่มีหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะกับลูกทีมที่รับมือยาก วันนี้เราจะมาพูดคุยและเรียนรู้ลักษณะของลูกทีมที่รับมือยาก วิธีรับมือ รวมถึงมุมมองแนวคิดในการดูแลทีมกันค่ะ

ลักษณะหรือนิสัยของลูกทีมที่รับมือยากและวิธีการรับมือ

  • เก่ง ดื้อ มีความมั่นใจในตัวเองสูง
    ลูกทีมในลักษณะนี้จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ แบบแรกคือถ้าลูกทีมกลุ่มนี้สามารถทำได้และทำได้ถูกต้อง ผู้เป็นหัวหน้าจะต้องให้คำชม พร้อมทั้งสนับสนุนให้แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกัน ในแบบที่สอง ถ้าลูกทีมกำลังทำอะไรที่ผิด หรืออาจไม่ใช่แนวทางเดียวกับขององค์กร ก็จะเป็นหน้าที่ของหัวหน้า ที่ต้องเข้าไปพูดคุย สอบถามถึงกระบวนการทางความคิดของลูกทีมคนนั้น โดยจะไม่ใช้วิธีการสื่อสารแบบตรงไปตรงมาจนเกินไป เพราะนั่นมีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดความคิดขัดแย้ง ต่อต้าน ไม่รับฟัง และทำให้เกิดเป็นปัญหาไปในที่สุด

  • มองทุกอย่างเป็นปัญหาหมด
    ผู้เป็นหัวหน้าทีมจะต้องหาทางรับมือและดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะลูกทีมลักษณะนี้จะมีความรู้สึกยอมแพ้ได้ง่าย เนื่องจากมองทุกอย่างเป็นอุปสรรค อย่างไรก็ตามลูกทีมกลุ่มนี้สามารถรับมือได้ง่ายเช่นกัน เพียงแต่ต้องอาศัยความใกล้ชิดในการทำงาน พูดคุยสอบถามถึงความก้าวหน้าของงาน หรืออีกวิธีหนึ่งคือการจับคู่ในการทำงานเพื่อให้คอยช่วยเหลือกัน

  • มีความไม่ขยันอยู่ในตัวเอง
    ในการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ลูกทีมในลักษณะนี้อาจรู้สึก อยากทำงานเพียงแค่ 5 ชั่วโมงต่อวัน จึงทำให้ประสิทธิภาพการทำงานไม่เป็นไปตามที่หัวหน้าคาดหวัง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่หัวหน้าต้องทำนั่นคือการมอบหมายงานให้ตามประสิทธิภาพของการทำงาน พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานอย่างชัดเจน

  • เวลาทำงานคิดไม่ครอบคลุม (คิดไม่สุด)
    ลูกทีมลักษณะนี้มักทำงานโดยปราศจากการคิดวิเคราะห์และวางแผนอย่างละเอียด ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่สำหรับปัญหานี้ไม่ควรมองเป็นความผิดสำหรับลูกทีมฝ่ายเดียวเสมอไป ควรมองเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทีม วิธีการแก้ไขคือนำแผนงานที่วางไว้ทั้งหมดมาร่วมกันวิเคราะห์ วางแผน และพูดคุยกันอย่างละเอียด เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ความต่างของช่วงวัยมีผลกับการดูแลลูกทีมรึเปล่า

ความต่างของช่วงวัยเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการบริหารจัดการคน เนื่องจากวิธีคิดของคนในแต่ละช่วงวัยจะมีความคิด การใช้ชีวิต รวมถึงเป้าหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นในแง่ของการทำงาน หัวหน้าทีมจะต้องทราบถึงความคาดหวังของคนแต่ละช่วงวัยเพื่อที่จะตอบสนองได้ตรงกับความคาดหวังนั้นๆ รวมถึงแนวทางการปรับตัวเข้าหากันเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น

วิธีการสร้างแพสชั่นให้น้องๆมีไฟในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

ในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ การได้พูดคุย แชร์ปัญหา หรือระดมความคิด เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกคนเกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยเราต้องไม่รีบตัดสินว่าความคิดนั้นดี แย่ ถูก หรือผิด ต้องรวบรวมทุกความคิดที่เกิดขึ้นแล้วจึงมาระดมความเห็นว่าสิ่งนั้น เรื่องนั้น เราสามารถทำได้หรือไม่ได้ เพราะอะไร

ส่วนเรื่องของแพสชั่นนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากคนทั้งสองฝ่าย ผู้เป็นนายหรือหัวหน้านั้นต้องหมั่นสร้างเหตุการณ์ สร้างเรื่องราวเพื่อทำให้ลูกทีมเกิดแพสชั่นในงานหรือองค์กร เพียงแต่ระดับของแพสชั่นอาจจะจะแตกต่างกันไปตามความรู้สึกของแต่ละบุคคล

” การจะขึ้นมาเป็นหัวหน้านั้น สิ่งสำคัญที่ต้องมีเรื่องแรกคือ ความเท่าเทียมกันของลูกทีมทุกคน ต้องมองให้ทุกคนเท่าเทียมกันหมดโดยไม่มีความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องที่สองคือ เป็นเทรนเนอร์ให้กับลูกทีม เราจะต้องรู้ว่าลูกทีมแต่ละคนนั้นมีจุดอ่อนตรงไหน ต้องช่วยเหลือ สอนและพัฒนาเขาให้ดีขึ้น และสิ่งสุดท้ายที่สำคัญมากในการเป็นหัวหน้าคือ การเป็น Buffer หรือผู้รับแรงปะทะ หรือแรงกดดันแทนลูกทีม เมื่อใดที่เกิดความผิดพลาด เช่นลูกค้าต้องการร้องเรียน ผู้เป็นหัวหน้าจะต้องเข้ามารับมือแทนลูกทีมพร้อมรับคำร้องเรียนนั้น และจึงไปคุยกับลูกทีมอีกครั้งในภายหลัง หัวหน้าต้องพร้อมรับแรงกระแทกทุกอย่างที่จะเข้ามาปะทะเพื่อที่จะทำให้แรงกระแทกนั้นไปถึงลูกทีมอย่างเบาลงที่สุด

Managing Director

 

บริการของ MOCAP
โทร : +66 2203 9000 | วันจันทร์ – ศุกร์: 8:30 – 17:30 น.
สำหรับธุรกิจและบริการ : inquiry@mocap.co.th
สำหรับสมัครงาน : ดูตำแหน่งงานที่สนใจ

Share This Story!